พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงเริ่มค้นคว้าเรื่อง พระมหาชนก จากพระไตรปิฎกในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ต่อจากที่ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) แห่งวัดราชผาติการาม เรื่อง พระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ในกรุงมิถิลา ที่แสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญวิริยบารมี ซึ่งมีคติที่ชัดเจน และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า จึงทรงเก็บใจความสำคัญของเรื่องมาทรงพระราชนิพนธ์เป็นสำนวนที่ทันสมัย ดัดแปลงแก้ไขเรื่องตอนท้ายในคติธรรมเกี่ยวกับการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
พระราชนิพนธ์พระมหาชนกมีเนื้อเรื่องกล่าวถึง พระเจ้ามหาชนกกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า อริฏฐชนก และ โปลชนก เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ และทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช อมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลใส่ร้ายว่าพระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกก็หลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนก แต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐาน และหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลมาท้ารบ และเอาชนะได้ในที่สุด พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ
พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ต่อมามีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า "มหาชนก" จวบจนกระทั่งมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริง ก็คิดจะไปเอาราชสมบัติคืน ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือเจอพายุจนล่มลง ลูกเรือตายหมดเหลือแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร ๗ วัน ๗ คืน จนได้พบนางมณีเมขลา ในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร
ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม "สีวลีเทวี" ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม
ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง คือความเพียร ความพยายาม ความกล้าที่จะลงมือทำ เป็นแนวทางให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ กล้าเผชิญกับความทุกข์ยาก ปัญหา และอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น หากมีอุปสรรคข้อขัดข้องใดๆ ไม่ย่อท้อ ไม่สิ้นหวัง เดินหน้าเรื่อยไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายคือความสำเร็จ ดังเช่นพระมหาชนกที่มีความเพียรอดทนว่ายน้ำในทะเลนาน ๗ วัน ๗ คืน
พระราชนิพนธ์พระมหาชนก เป็นหนังสือที่สวยงาม มีภาพประกอบศิลปะไทยร่วมสมัยที่งดงามด้วยศิลปินที่มีฝีมือยอดเยี่ยม จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ กำกับอักษรเทวนาครี ทรงใช้ระยะเวลาค้นคว้า และพระราชนิพนธ์ประมาณ ๑๙ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึงปีพ.ศ ๒๕๓๙ จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ออกสู่สายตาพสกนิกรไทย และชาวต่างชาติในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์
พระมหาชนก เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ตอนหนึ่งความว่า
"หนังสือนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้า หนังสือนี้ไม่มีที่เทียม และจะเป็นที่เริงใจของผู้อ่าน
ต้องการให้เห็นว่าสำคัญที่สุด คนเราทำอะไรต้องมีความเพียร
ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์"
และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกเป็นฉบับการ์ตูน และโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินที่มีความชำนาญการที่สุด คือ "ชัย ราชวัตร" เป็นผู้วาดภาพประกอบ และจัดพิมพ์ด้วยกระดาษไทย เพื่อความประหยัด มีราคาย่อมเยา พสกนิกรของพระองค์ทุกชนชั้นมีโอกาสได้อ่าน และนำมาพิจารณาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลสืบไป นอกจากนี้ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนแอนิเมชั่น ทางโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกสถานี
พระราชนิพนธ์ พระมหาชนก กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรักยิ่ง และด้วยพระวิริยอุตสาหะจึงทำให้ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด นับเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงคุณค่า และมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ที่มีโอกาสได้อ่าน เพื่อนำมาเป็นคติสอนใจ และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งในการทำสิ่งใดก็ตามหากขาดความเพียรพยายามเสียแล้วก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร" ซึ่งความทุกข์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้น คือความลำบากของราษฎร พระองค์ท่านจึงมีความเพียร ใช้ความเพียรบำบัดทุกข์ด้วยการทุ่มเทพระราชหฤทัย และพระวรกายทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพเพื่อความสุขของคนไทยทั้งชาติ
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจาก :
http://www.prd.go.th/ewt_news.php?nid=150367&filename=prd
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%81