ads

Thursday, July 13, 2017

กรุง-กุลเกริก เตชจิรัฐกาล หนุ่มนักสตาฟซากสัตว์อาชีพสุดแนวที่กำลังมาแรง

กรุง-กุลเกริก เตชจิรัฐกาล หนุ่มนักสตาฟซากสัตว์อาชีพสุดแนวที่กำลังมาแรง,กรุง-กุลเกริก เตชจิรัฐกาล หนุ่มนักสตาฟซากสัตว์อาชีพสุดแนวที่กำลังมาแรง

'Stop the Time Life in Pause'

จากการที่ชอบตั้งคำถามถึงขีดจำกัดความสามารถของตัวเองอยู่บ่อยๆ จึงไม่แปลกที่ กรุง-กุลเกริก เตชจิรัฐกาล มักจะสร้างความท้าทายให้กับชีวิตมาตลอดตั้งแต่อายุน้อยๆ เริ่มตั้งแต่การสร้างแบรนด์เครื่องหนังและกางเกงยีนส์จนเป็นที่ยอมรับและอยู่ตัวแล้วล่าสุดเขายังเดินหน้าไปต่อในฐานะ 'นักสตาฟสัตว์' เส้นทางใหม่แกะกล่องที่กำลังไปได้สวยไม่ใช่น้อย…

จุดเริ่มต้นของคุณกรุงนั้นต้องย้อนกลับไปประมาณ 5 ปีที่แล้วโดยมาจากความชอบทุกอย่างที่เป็นวินเทจ ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าหรือของแต่งบ้าน เวลาเดินตลาดมืดคลองถมก็จะเจองานสัตว์สตาฟฟ์จากต่างประเทศซึ่งราคาค่อนข้างสูงมากๆ ยกตัวอย่างนกบางชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาหลักหมื่นขึ้นไป จากจุดนั้นก็เกิดความคิดที่ว่าในบ้านเรามีใครสอนทำหรือเปล่า ซึ่งตอนนั้น Taxidermy (สัตว์สตาฟฟ์)  ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก และเขาก็โชคดีที่ได้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสตาฟฟ์สัตว์โดยตรงมาถ่ายทอดวิชาให้รวมไปถึงพันธมิตรสำคัญอย่างคุณกานต์และคุณนัทที่ชื่นชอบการสตาฟฟ์สัตว์เหมือนกัน

คุณกรุงเล่าให้ฟังว่าขั้นแรกคือการเรียนรู้ด้วยตัวเองล้วนๆ  'ผมเริ่มศึกษาจากทางยูทูป ซื้อหนังสือ History Anatomy ที่เป็นของสัตว์โดยเฉพาะมาศึกษาและหาอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานจากศึกษาภัณฑ์ ซึ่งหลายคนอาจมองข้ามแต่แท้จริงแล้วที่นี่มีทุกอย่าง เช่น เคมีที่ใช้สำหรับฟอกหนัง อุปกรณ์โฟมในการขึ้นรูปตัวสัตว์'

เมื่อถามถึงสัตว์ตัวแรกที่สตาฟฟ์สำเร็จเขารีบตอบด้วยความภูมิใจว่า เป็นนกกระตั้วได้มาจากทางโรงพยาบาลสัตว์โดยการประกาศรับซื้อซากนกในกลุ่มเล่นนกที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ถือเป็นอาจารย์ในการฝึกทำเป็นตัวแรกของเขาด้วย หลังจากฝึกปรือจนฝีมือเริ่มนิ่งขึ้น บางสิ่งที่เขาได้ค้นพบนอกเหนือการสตาฟฟ์สัตว์คือมิตรภาพของคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ทุกวันนี้เรื่องเงินเป็นเรื่องรองแต่สิ่งนี้เป็นการแชร์ในสิ่งที่เราชื่นชอบและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากกว่า

"สัตว์พวกนี้ไม่ได้ถูกฆ่าหรือล่ามา ทั้งหมดคือตายเพราะป่วยเป็นโรค ถูกสัตว์มีพิษกัดบ้าง แม้กระทั่งแก่ตาย ผลตอบรับของคนไทยช่วงแรกยอมรับเลยว่าดราม่าเยอะ อย่างเช่นการสตาฟฟ์หมาหาว่าเอาเข็มหมุดไปตรึงเอาไว้ทำไม ซึ่งมันคือปักหมุดเพื่อคงสภาพในการสตาฟฟ์สัตว์ เมื่อผิวเซทตัวและแห้งก็จะดึงออก ซึ่งช่วงหลังมีคนนำสัตว์เลี้ยงมาให้ทำเยอะมาก มีตั้งแต่กิ้งก่า เต่า นก งู ส่วนมากเป็นสัตว์ที่มีราคาแพงหรือไม่ก็มีความผูกพันธ์กับเจ้าของเป็นพิเศษ ผมจะรู้สึกดีทุกครั้งที่เห็นรอยยิ้มลูกค้า" คุณกรุงตอบคำถามที่คนส่วนใหญ่มักเพ่งเล็งถึงการทำงานของเขา

เมื่อถามถึงเคสที่ต้องใช้แรงกายและแรงใจเป็นอย่างมากเขาบอกว่าเป็นเคสม้าแข่งราคาสิบกว่าล้านที่ปลดระวางหรืออายุมากแล้วเค้าจะเดินไม่ไหวเพราะน้ำหนักตัวจะทิ้งลงไปที่ขาเยอะทำให้ไม่มีแรง ทำได้แค่นอนซมอย่างเดียวซึ่งทรมานมาก เหมือนคนเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะทำ Push Up หรือฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดเพื่อให้ไปอย่างสงบ เมื่อเสียชีวิตแล้วเจ้าของส่วนใหญ่ทำใจฝังไม่ลงหรือด้วยความผูกพันเป็นเหตุผลเราเลยได้มาสตาฟฟ์

คุณกรุงร่ายต่อว่า "ม้าตัวนี้ถ้าวัดจากหลังถึงเท้าจะสูงประมาณ 170 ซม.แต่ถ้าวัดจากหัวถึงหางจะสูง 2.30 เมตร สิ่งที่เหนื่อยคือการขนย้ายซากแล้วก็เรื่องแมลงที่มากันเยอะมาก ขั้นตอนคร่าวๆ คือต้องลอกหนังออกมาก่อน เริ่มจากกีบเท้าไล่ขึ้นมาจากนั้นเอาหนังไปทำความสะอาด ส่วนเนื้อนำมาชั่งน้ำหนักกะค่าเฉลี่ยเพื่อจะปั้นหุ่นจากเรซิ่นใส่เข้าไปแทนเนื้อที่เราชำแหละออกมา ซึ่งทุกอย่างต้องเป๊ะมาก สิ่งที่ท้าทายคือทุกส่วนของเค้าจะเต็มไปด้วยมัดกล้ามเหมือนคนเล่นเวทมาหนักๆ ซึ่งทำค่อนข้างยาก เคสนี้ใช้เวลาทำทั้งหมด 1 เดือนโดยช่วยกัน 5 คนซึ่งคุณอ้นเป็นเฮดหลัก"

"สิ่งสำคัญสำหรับนักสตาฟฟ์สัตว์อีกข้อคือ ต้องมีใบจากปศุสัตว์ กรมตรวจโรค มีใบรับรองแพทย์จากสัตวแพทย์ซึ่งผมมีครบทุกอย่าง รวมไปถึงถ้าใครอยากให้ทำสัตว์ป่าต้องมีใบอนุญาตครอบครองและใบปศุสัตว์ตรวจโรค ถ้าไม่มีทุกอย่างจบผมทำให้ไม่ได้เพราะเราต้องเซฟตัวเองด้วย" ชายหนุ่มตอบข้อข้องใจเรื่องกฏหมายอย่างอารมณ์ดี

เมื่อถามถึงเทรนด์ความนิยมของสัตว์สตาฟฟ์เขายอมรับว่าปีนี้งาน Taxidermy มาแรงมาก แฟชั่นโชว์ก็เอาไปแต่งรันเวย์ สังเกตว่าหน้าปกแมกกาซีนหลายเล่มมีการใช้สัตว์สตาฟฟ์เป็นพร็อพ รวมถึงโรงแรม รีสอร์ทก็มีผลตอบรับที่ดีมาก หรือร้านสักร้านกาแฟก็มีสั่งเข้ามาพอสมควร ใครที่บอกว่างานสตาฟฟ์เป็นเรื่องไกลตัว ถึงเวลาที่ต้องคิดใหม่แล้ว หลายคนเมื่อเริ่มเก็บชิ้นหนึ่งแล้วต้องมีงอกออกมาเรื่อยๆ เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนคนเล่นหุ่นฟิกเกอร์ที่มีตัวเดียวไม่พอต้องมีครบชุดถึงจะฟิน สัตว์สตาฟฟ์ก็เหมือนกัน ถ้าได้เก็บแล้วก็อยากได้สัตว์ที่ชิ้นใหญ่ขึ้นหรือแปลกขึ้นไปเรื่อยๆ

"จุดเด่นในงานสตาฟฟ์ของผมคืองานเรียบร้อย จัดแอคชั่นของสัตว์ได้สมจริง ท่วงท่าอนาโตมี่ใกล้เคียงของจริง 80-90% ยกตัวอย่างเราต้องศึกษาว่าเหยี่ยวพันธุ์นี้ชอบยกขาข้างไหน ท่าโฉบเป็นยังไง แล้วเราก็เลือกแอคชั่นที่สวยที่สุดแต่ลูกค้าก็สามารถบอกได้ว่าอยากให้ทำท่าไหนซึ่งเราจัดได้หมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นซากต้องสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการถูกแมลงกัดเยอะเกินไปและไม่เน่า บางคนบอกสตาฟฟ์แมวให้หน่อยแต่แมวโดนรถทับมาเราบอกเลยว่าทำไม่ได้แนะนำให้ฌาปนกิจดีกว่า" เขาอธิบายถึงจุดขายในงานของตัวเอง

มาถึงคำถามที่หลายคนอยากรู้นั่นคือ ค่าใช้จ่าย "ราคางานสตาฟฟ์จะเริ่มอยู่ที่ 5,000 บาทขึ้นไป ถ้าเป็นสัตว์ที่ไม่ใหญ่มาก ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่สายพันธุ์และความหายากด้วย ส่วนสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขหรือแมวเริ่มต้นที่ 6,000 บาท ไล่จนไปถึงราคาหลักล้านตามขนาดของสัตว์และความยากง่าย ส่วนนกยูงเป็นสัตว์ที่ขายดีที่สุดช่วงนี้ มีตั้งแต่ราคา 50,000 บาทจนไปถึง 200,000 บาท"

"การดูแลรักษาอย่าไปไว้ที่ชื้นหรือไม่อยู่ตรงที่แดดลงจัดๆ อยู่ในอุณหภูมิปกติ อยู่ในห้องแอร์ได้จะดีมาก อีกอย่างคือแขวนลูกเหม็นไว้อาทิตย์ละครั้งสำหรับกันแมลง ผมว่าสัตว์สตาฟฟ์พวกนี้อยู่ได้เกินห้าสิบปีถ้ารักษาดีๆ" คุณกรุงปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยวิธีการดูแลให้สัตว์สตาฟฟ์อยู่กับเราไปนานๆ

FB : สัตว์สตาฟ-TaxidermyMan
IG : Taxidermy_Zeenut
IG : Avin_karn

ติดตามเรื่องราวน่าสนใจเพิ่มเติ่มได้ใน A'Lure Digital Magazine Ver.10

,จากการที่ชอบตั้งคำถามถึงขีดจำกัดความสามารถของตัวเองอยู่บ่อยๆ จึงไม่แปลกที่ กรุง-กุลเกริก เตชจิรัฐกาล มักจะสร้างความท้าทายให้กับชีวิตมาตลอดตั้งแต่อายุน้อยๆ Alure Style, In focus Alure Style,In focus,Taxidermy,กรุง,กุลเกริก เตชจิรัฐกาล,นักสตาฟฟ์สัตว์,สัตว์สตาฟฟ์